สำนักสหปฏิบัติฯ

ชีวิตที่กลมกลืน ไม่ต้องทนกล้ำกลืน
 


ชีวิตคืออะไร เป็นคำถามที่ตอบยาก และความหมายนั้นแสนจะใหญ่โตเกินที่จะสรรหาคำจำกัดความ ไม่สามารถตอบแบบเจาะจงลงตัว หรือตอบแบบครอบคลุมได้ เพราะชีวิตเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วทั้งจักรวาล หนุ่มสาวที่อยู่ในยุคของการศึกษาก้าวหน้า จะถือหลักในการดำเนินชีวิตด้วยทฤษฎี(THEORY) ทฤษฎีเป็นความเชื่อถือในสิ่งที่คาดคิดจากหลักวิชาการ ที่ต้องมีเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฎการณ์ หรือข้อมูลในภาคปฎิบัติ ซึ่งต้องเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ และสืบสาวหาสาเหตุได้เท่านั้น ลักษณะของชีวิตที่แท้จริง ทั้งก่อนเกิดและหลังเกิด อีกทั้งในขณะที่กำลังดำเนินชีวิตจนถึงสิ้นสุดลงไปยากที่จะสร้างระเบียบ ในปรากฎการณ์รากฐานข้อมูลหรือหาเหตุผล ในการปฎิบัติอย่างตรงๆ เช่นเดียวกับหลักของทฤษฎีนั้น สมัยนั้นคนส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ความคิดที่หนักสมอง ไม่ต้องการขบคิดปัญหาที่มีลักษณะยอกย้อน ชอบสิ่งที่เป็นรูปแบบสำเร็จเสร็จในตัว เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคสำเร็จรูป จะได้รับความนิยมมากกว่า สิ่งที่ต้องนำไปปรุงแต่ง หรือ ประดิษฐ์คิดต่อความสุขุมรอบคอบที่ต้องนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เกิดจากจิตที่ถูกบ่มด้วยศรัทธา เพื่อนำไปสู่ความคิดในเชิงชั้นของปรัชญาอันจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงในสัจจธรรมของชีวิต  ชีวิตที่กลมกลืนไม่ต้องทนกล้ำกลืนฝืนใจ ทางพระเรียกว่า สมชีวิตา คือชีวิตที่เหมาะสม หมายถึง รูปแบบการวางแผนของชีวิต เหตุการณ์ที่สำคัญในแต่ละช่วงของความเปลี่ยนแปลง เช่น การก้าวเข้าสู่วัยเรียนต้องพิจารณา ความเหมาะสม หากฝืนให้เด็กเข้าเรียน ตั้งแต่เยาว์วัยมาก หรือวัยที่เกินวัยเกินไปความไม่กลมกลืนในชีวิตการศึกษา ทำให้เด็กต้องทนกล้ำกลืนต่อบรรยากาศที่แวดล้อมในโรงเรียน ความเป็นนักเรียนโค่ง หรือนักเรียนแคระ จะทำให้เด็กมีปัญหาทางด้านจิตใจอีกด้วย  การเลือกอาชีพหรือการงาน ไม่ควรฝืนเลือกอาชีพหรืองานที่ตนเองไม่ถนัด จะทำให้การเข้าสู่สังคมเคอะเขิน เนื่องจากตนไม่ประสบความสำเร็จ หากมีค่านิยมในการคบหาผู้มีฐานะสูงต่ำห่างไกลกับตน การเสวนาก็จะลำบากใจ อย่างเช่นตนอาจจะมีเพื่อนมาเป็นเจ้านาย หรือไม่ก็ได้เพื่อนมาเป็นลูกน้อง ก็ต้องทนกล้ำกลืนฝืนใจคบหากันไป  ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต คือการก้าวเข้าสู่ประตูวิวาห์ หากขาดความเหมาะสมกลมกลืนในชีวิตคู่ ก็จะเกิดเป็นความทุกข์ พระพุทธศาสนามีหลักที่ทำให้ มีความสุขโดยไม่ต้องทนฝืนต่อกัน คือ สมธรรม สี่ประการ มี

1.สมศรัทธา มีศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสใฝ่นิยมในคุณค่า เชื่อถือลัทธิหรือศาสนา ยึดถือ และเข้าใจ ในความดีงาม กลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เหมาะสมกัน
2.สมศีลา มีศีล คือความประพฤติที่เสมอและเข้าใจกันได้ ไม่ก่อให้เกิดความรังเกียจ ดูหมิ่นเหยียดหยาม ขัดแย้งต่อกัน
3.สมจาคา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละเสมอกัน หากฝ่ายหนึ่งแล้งน้ำใจ ฝ่ายหนึ่งมีน้ำใจก็ย่อมขัดแย้ง แตกร้าวกันได้ง่าย
4.สมปัญญา เรื่องของความรู้จักเหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ประโยชน์รู้โทษ รู้จักใช้ความคิด เป็นเรื่องที่สำคัญในการอยู่ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นสิ่งที่จะส่งเสริมชีวิต เพิ่มกำลังความคิดให้แก่กัน

การใช้ชีวิตให้กลมกลืน สำคัญที่สุดก็คือ ต้องศึกษาทำความเข้าใจในสภาวะจิตของแต่ละฝ่าย เรื่องของจิตวิทยาสากลที่นักวิชาการนำมาเรียน มาสอนกัน คงใช้ได้ผลเพียงแก้ปัญหาชีวิตชนิดผิวเผิน หรือที่เรียกว่าพฤติกรรม ที่เกิดจากปัญหาทั่วไปธรรมดา  ชีวิตจะอยู่รอดปลอดภัย จะต้องมีความสมดุลสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ชีวิตที่ขัดแย้งหรือขัดต่อธรรมชาติ ก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้ คือไม่มีชีวิต ทุกชีวิตมีจิตเป็นตัวรับรู้ และกลไกในการแสดง ความประสานกลมกลืนสอดคล้อง ระหว่างธรรมชาติภายนอก และธรรมชาติภายใน หากไม่กลืนสมดุลกับจิตใจ ชีวิตจะพบกับความบีบคั้นและทุกข์ยาก การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะธรรมชาติมีทั้งสิ่งที่เป็นสามัญวิสัย และสิ่งเหนือสามัญวิสัย ที่อยู่ในธรรมชาติแห่งกระบวนการ ของจิตธรรมดา ไม่สามารถที่จะสัมผัส และมีความกลมกลืน กับสิ่งที่อยู่เหนือสามัญวิสัยได้

สิ่งเหนือสามัญวิสัย สากลเรียกว่า สัมผัสที่หก( Sixth Sense) เกิดเป็นปรากฎการณ์ในเชิงปาฏิหารย์ เรื่องเช่นนี้ก็สร้างความทุกข์อยู่ลึกๆลับๆ มนุษย์ต้องทนกล้ำกลืนอย่างไม่รู้ตัว สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิต ทุกอย่างย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ถ้าหยุดการเปลี่ยนแปลงเมื่อใด หมายถึงความสิ้นสุดของทุกชีวิต ความเข้าใจที่จะปรับความเปลี่ยนแปลงให้เกิดความกลมกลืน เพื่อไม่ต้องทนกล้ำกลืนในขณะที่ชีวิตยังคงยั่งยืนอยู่ จำเป็นต้องทำความเข้าใจในสรรพศาสตร์ทั้งหลายที่เป็นสาระศาสตร์ ทุกศาสตร์มีสาระประโยชน์ทั้งสิ้น หากใช่แต่วิทยาศาสตร์เพียงแขนงเดียว ศาสตร์ที่สังคมส่วนใหญ่มักจะตั้งข้อรังเกียจ คือไสยศาสตร์ หากมองในมุมกลับกันก็สมควรที่จะรังเกียจ เพราะผู้ประกาศไสยศาสตร์มักใช้ความอหังการ์ และขาดความแนบเนียนในเหตุและผล หากมีความสมเหตุสมผล ไสยศาสตร์ คงมีบทบาทที่ดีสามารถสร้างความกลมกลืนให้แก่สังคมได้ เปรียบอุปมากับนิเวศวิทยา ซึ่งป็นวิชาที่ยอมรับ และกำลังมีบทบาทที่สำคัญให้กับสังคมยุคปัจจุบัน

นิเวศวิทยา มีสาระและเจตนาที่จะสร้างความกลมกลืนให้กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับถิ่นที่อยู่ พร้อมกับการเรียนรู้ถึงวิธีการดัดแปลงขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมทั้งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม นำมาสร้างความกลมกลืนให้กับชีวิตของมนุษย์